• 1887 เข้าชม
  • 12 มีนาคม 2561

ฉี่ในสระว่ายน้ำ ก่อสารพัดอันตราย

กรดยูริกที่อยู่ในปัสสาวะของมนุษย์ เมื่อผสมกับคลอรีนที่อยู่ในสระว่ายน้ำ จะก่อให้เกิดสารเคมีชนิดใหม่ที่เรียกว่า ไซยาโนเจน คลอไรด์ ซึ่งเป็นสารเคมีตระกูลเดียวกันกับสารไซยาไนด์ (ใครอ่านการ์ตูนสืบสวนสอบสวนบ่อยๆ น่าจะรู้จักสารนี้ดี เพราะมันคือสารพิษที่ทำให้เราเสียชีวิตได้) โดยไซยาโนเจน คลอไรด์ มักถูกใช้ในวงการอุตสาหกรรมที่ใช้ในการสังเคราะห์สารอินทรีย์ ก๊าซพิษในทางการทหาร อนุพันธ์เบนซิน และเป็นส่วนประกอบ (เป็นสารเตือนให้รู้) ในแก๊สรมฆ่าแมลง

 

 

อันตรายของไซยาโนเจน คลอไรด์

เมื่อสัมผัสผ่านระบบหายใจ (เข้าปาก-จมูก) หรือผิวหนังต่างๆ (อาจจะเข้าตา) อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองทั้งตา จมูก และระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอาการชีพจรเต้นเร็ว หายใจช้า หรือเร็วกว่าปกติ (ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่ร่างกายรีบเข้าไป) อ่อนแรง ปวดศีรษะ มึนงง สับสน คลื่นไส้ อาเจียน

ใครที่บริการสระว่ายน้ำที่มีพบสารไซยาโนเจน คลอไรด์เป็นประจำ อาจมีอาการเรื้อรัง เช่น เยื่อบุตาอักเสบ หนังตาบวม ไปจนถึงเสียงแหบได้

แม้ว่าปริมาณของไซยาโนเจน คลอไรด์ที่พบในสระว่ายน้ำอาจไม่ได้เข้มข้นมากนัก แต่ก็ต้องเผื่อไปถึงโอกาสที่เราจะแพ้สารชนิดนี้อย่างรุนแรงด้วย

 

อันตรายจากสระว่ายน้ำปกติ

แม้ว่าสระว่ายน้ำบางที่บอกว่าเปลี่ยนน้ำบ่อย รับรองสะอาด แต่ด้วยปริมาณของคลอรีน (ที่เราไม่อาจทราบได้ว่ามากน้อยแค่ไหน) ใครที่มีอาการแพ้คลอรีน อาจเกิดอาการติดเชื้อได้ โดยสามารถติดเชื้อได้ทั้งบริเวณช่องคลอด คือ เยื่อบุปากช่องคลอดจะเกิดอาการแสบๆ เมื่อสัมผัสกับปัสสาวะ (ของตัวเอง) หลังขึ้นมาจากสระว่ายน้ำ พยาธิในช่องตลอด เชื้อรา หนองใน หรือเชื้อโรคต่างๆ จากผู้ที่เล่นน้ำด้วยกัน เราอาจรับเชื้อโรคผ่านเข้าสู่ปาก เช่น โรคท้องร่วง ตับอักเสบ

หากได้รับบาดแผลจากเศษกระเบื้องในสระว่ายน้ำบาด อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง คล้ายแผลที่เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นแผลที่ค่อนข้างจะหายยาก

เพราะฉะนั้น ควรเลือกใช้บริการสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดหลังใช้บริการ ไม่กลืนน้ำในสระว่ายน้ำเช้าไปในร่างกาย และอย่าปัสสาวะลงในสระน้ำอีกเลยนะคะ เพราะเราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าสระว่ายน้ำที่เราเล่นอยู่จะมีการเปลี่ยนน้ำบ่อยแค่ไหน คลอรีนเข้มข้นมากแค่ไหน หรือแม้กระทั่งสระว่ายน้ำระบบเกลือก็ไม่ควรทำ เพราะไม่ว่าอย่างไรเราควรมีจิตสาธารณะ ช่วยกันดูแลสถานที่ที่เราใช้ร่วมกันให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของเราอยู่เสมอจะดีกว่าค่ะ

ขอขอบคุณ
ข้อมูล :Science News,อ.นพ. พงษ์ศักดิ์ ชัยศิลป์วัฒนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,Occupational and Environmental Medicine Center @ Nopparat Hospital
ภาพ : iStock
ที่มา : http://www.sanook.com/health/8013/